top of page

Microplastic | ไมโครพลาสติกสิ่งผลต่อสุขภาพ อย่างไร

รูปภาพนักเขียน: drphornrakdrphornrak

โดย พญ.พรรักษ์ ศรีพล จักษุแพทย์เฉพาะทางต้อหิน

Plastics คืออะไร

Plastics หรือ พลาสติกคือ สารสังเคราะห์ตั้งต้นมาจาก polymer 

โดยปกติแล้วสารนี้จะสังเคราะห์มาจาก ปิโตเคมีคอล เช่น ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันธรรมชาติ โดยคุณสมบัติที่สำคัญของพลาสติกคือคงทนและสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงรูปร่างไปให้เหมาะกับการใช้งานเช่น บรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์เครื่องใช้ในครัวเรือน อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง อุตสาหกรรมทางเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น

ชนิดของพลาสติกแบ่งได้ตามโครงสร้างทางเคมี และคุณสมบัติดังนี้ 

  1. Polyethylene (PE) – มักจะพบในขวดน้ำ หรือถุงพลาสติก

  2. Polypropylene (PP) – ใช้ใน อุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมรถยนต์

  3. Polyvinyl chloride (PVC) – พบในการผลิตท่อ, สายยางทางการแพทย์ 

  4. Polystyrene (PS) – อุสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

  5. Polyethylene terephthalate (PET) – พบในบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดิ่ม


ในขณะที่พลาสติกมีประโยชน์หลายด้านต่ออุตสาหกรรมของโลก ทั้งในเรื่องความคงทน ทนทาน และอายุการใช้งานที่ยาวนาน แต่คุณสมบัติในการย่อยสลายยากนี้เองก่อให้เกิดปัญหามลพิษและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง เมื่อพลาสติกแตกตัวกลายเป็นไมโครพลาสติกหรือนาโนพลาสติก ปัญหานี้กลายเป็นความกังวลอย่างยิ่งในวงการแพทย์ องค์กรด้านสุขภาพ และนักสิ่งแวดล้อมที่ต่างแสดงความห่วงใยต่อผลกระทบที่จะมีต่อสุขภาพมนุษย์และระบบนิเวศ


อะไรคือ Microplastics 

ไมโครพลาสติก (Microplastics) หมายถึงเศษพลาสติกขนาดเล็กที่มีขนาดน้อยกว่า 5 มิลลิเมตร สามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ๆ คือ

  1. Primary Microplastics: พลาสติกขนาดเล็กที่ถูกผลิตขึ้นโดยตรงจากโรงงาน มักใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เครื่องสำอาง และในผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องใช้พลาสติกขนาดเล็กตั้งแต่แรก

  2. Secondary Microplastics: เกิดจากการย่อยสลายของพลาสติกชิ้นใหญ่จากกระบวนการทางธรรมชาติ เช่น น้ำ ความร้อน หรือการแตกสลายของพลาสติกโดยปัจจัยสิ่งแวดล้อม จนทำให้พลาสติกขนาดใหญ่กลายเป็นชิ้นเล็กลง

การที่ไมโครพลาสติก มีขนาดเล็กมาก ทำให้มีสามารถกระจายตัวไปทั่วในสิ่งแวดล้อมได้อย่างง่ายดาย ดังนี้จะพบได้ในแหล่งต่าง ๆ เช่น ทะเล แม่น้ำ ดิน และอากาศ 

นอกจากนี้ไมโครพลาสติกเหล่านี้ยังถูกปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์พลาสติกในชีวิตประจำวันและจากการย่อยสลายของขยะพลาสติกในธรรมชาติ ทำให้เกิดการปนเปื้อนของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น ปลาและสัตว์ทะเลขนาดเล็กที่อาจกลืนไมโครพลาสติกเข้าไปโดยไม่รู้ตัว นำไปสู่การสะสมของไมโครพลาสติกในห่วงโซ่อาหาร

สำหรับมนุษย์ การบริโภคสัตว์น้ำหรือการสัมผัสกับไมโครพลาสติกอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ การสะสมของไมโครพลาสติกในร่างกาย อาจทำให้เกิดความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น การอักเสบ การทำลายเนื้อเยื่อ และความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่าง ๆ ซึ่งจะลงลายละเอียดในบทความนี้


ไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์ 

ไมโครพลาสติกสามารถที่จะแทรกซึมเข้าไปในร่างกายมนุษย์โดยหลักแล้วมีสามทางด้วยกัน

  1. ทางการหายใจ

  2. ทางการกิน

  3. ทางการสัมผัส

หลายงานวิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับปริมาณการได้รับไมโครพลาสติกในร่างกายมนุษย์ เช่น:

  • งานวิจัยของ Bai et al. (2022) ระบุว่ามนุษย์ได้รับไมโครพลาสติกเท่ากับปริมาณถุงพลาสติก 50 ถุงต่อปี

  • งานวิจัยของ Gruber et al. (2022) พบว่ามนุษย์ได้รับไมโครพลาสติกเท่ากับปริมาณบัตรเครดิต 1 ใบต่อสัปดาห์

  • งานวิจัยของ Mohamed Nor et al. (2021) พบว่าผู้ใหญ่ได้รับไมโครพลาสติกเฉลี่ย 4.1 ไมโครกรัมต่อสัปดาห์

  • งานวิจัยของ Senathirajah et al. (2021) พบว่าผู้ใหญ่ได้รับไมโครพลาสติกเฉลี่ยตั้งแต่ 0.1-5 กรัมต่อสัปดาห์

นอกจากนี้การศึกษาของ Martin Pletz ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับการได้รับไมโครพลาสติกในปริมาณเท่ากับบัตรเครดิต 1 ใบต่อสัปดาห์ว่าเป็นจริงหรือไม่ โดยเขาได้วิเคราะห์และวิจารณ์ ว่าปริมาณไมโครพลาสติกที่มนุษย์ได้รับอาจจะไม่สูงถึงขนาดนั้นและอาจจะใกล้เคียงกับผลการศึกษาของ Mohamed Nor et al. (2021) ที่พบว่าผู้ใหญ่ได้รับไมโครพลาสติกเฉลี่ย 4.1 ไมโครกรัมต่อสัปดาห์ ซึ่งถือว่าเป็นปริมาณที่น้อยมาก

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าปริมาณของไมโครพลาสติกที่มนุษย์ได้รับในร่างกายจะอยู่ในระดับที่ไม่มาก แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไมโครพลาสติกอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวในหลายๆ ด้าน โดยข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้น ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านต่างๆ เช่น การเกิดความเครียดออกซิเดชัน (oxidative stress) ซึ่งเชื่อมโยงกับโรคหลายประเภท รวมถึงโรคทางระบบประสาทและมะเร็ง (Jambeck et al., 2015) และยังมีผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ การเผาผลาญ และการทำงานของเซลล์ในร่างกาย (Lusher et al., 2017)

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาที่ ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกสามารถสะสมในอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ตับ และสมอง ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีการสัมผัสพลาสติกจากอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง


สารอันตรายสำคัญ จากไมโครพลาสติก 

พลาสติกเป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติหลายอย่างที่ทำให้ถูกนำมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม แต่เมื่อพลาสติกย่อยสลายไปจนกลายเป็นไมโครพลาสติก ซึ่งมีขนาดเล็กมากกว่า 5 มิลลิเมตร ก็สามารถทำให้สารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในพลาสติกถูกปล่อยออกมาและปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพมนุษย์ได้ โดยเฉพาะเมื่อพลาสติกบางประเภทมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายและไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้ง่ายๆ ผ่านเหงื่อหรือปัสสาวะ เช่น บิสฟีนอล เอ (Bisphenol A - BPA) และ สารเคมีในกลุ่มฟลูออรีน (Per- and Polyfluoroalkyl Substances - PFAS)

  1. BPA (Bisphenol A) เป็นสารเคมีที่พบในพลาสติกประเภทโพลีคาร์บอเนตและเรซินอีพ็อกซี ซึ่งอาจปนเปื้อนในอาหารและเครื่องดื่มเมื่อพลาสติกถูกทำลายหรือเมื่อสัมผัสกับอุณหภูมิสูง โดย BPA เป็นสารที่รบกวนฮอร์โมน (endocrine disruptor) ซึ่งมีผลต่อระบบฮอร์โมนในร่างกาย และอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น การเสี่ยงมะเร็ง, ความผิดปกติในการเจริญพันธุ์, และการพัฒนาของเด็กที่ไม่สมบูรณ์

  2. PFAS (Per- and Polyfluoroalkyl Substances) เป็นสารเคมีในกลุ่มฟลูออรีนที่ใช้ในพลาสติกบางประเภท ซึ่งมีคุณสมบัติทนทานต่อน้ำ, ไขมัน และความร้อน สารเหล่านี้สามารถสะสมในร่างกายและไม่สามารถขับออกจากร่างกายได้ง่ายๆ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง, ปัญหาตับ, ระบบภูมิคุ้มกันเสื่อม, และความผิดปกติในกระบวนการทางสืบพันธุ์

เมื่อพลาสติกย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อม สารเคมีเหล่านี้อาจถูกปล่อยออกมาและกระจายเข้าสู่ระบบนิเวศ ทั้งในน้ำ, อากาศ, และดิน ซึ่งมีผลเสียต่อสัตว์และมนุษย์ โดยไมโครพลาสติกสามารถเข้าไปสะสมในร่างกายของมนุษย์ผ่านการบริโภคอาหารและน้ำ ซึ่งมีการศึกษาพบว่าไมโครพลาสติกสามารถสะสมในอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด, ตับ, และสมอง รวมถึงอาจส่งผลต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์และการเจริญเติบโตของเด็ก


ผลกระทบต่อสุขภาพ

มีการศึกษาพบว่าไมโครพลาสติกพบอยู่ได้ในเกือบทุกส่วนต่างๆของร่างกาย เช่น 

  • เนื้อเยื่อรก placenta

  • ปอด lungs

  • ตับ liver

  • น้ำนมแม่ breast milk

  • ปัสสาวะ urine

  • ในเลือด blood

จริงๆแล้วอาจจะกล่าวได้ว่า Microplastics หรือ Nanoplastics สามารถพบได้ในเกือบทุกอวัยวะในร่างกาย 

ระบบหายใจ

การศึกษาของ Shumin Huang ให้หลักฐานที่น่าสนใจว่าไมโครพลาสติกสามารถถูกสูดหายใจเข้าสู่ร่างกายมนุษย์และพบในเสมหะ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้ยังมีข้อจำกัด เช่น ความเป็นไปได้ที่การค้นพบไมโครพลาสติกในเสมหะอาจเกิดจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจน

ในทางกลับกัน การทดลองในสัตว์ทดลองพบว่าไมโครพลาสติกสามารถทำให้เกิดการอักเสบในระบบหายใจและกระตุ้นกระบวนการเครียดออกซิเจน ซึ่งทำให้เกิดโรคปอดในสัตว์ทดลอง การศึกษาเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ปอดและอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบหายใจได้

ดังนั้น จากผลการวิจัยในเรื่องผลกระทบต่อปอดและระบบหายใจ อาจเชื่อได้ว่าไมโครพลาสติกสามารถเข้าสู่ปอดได้ แต่การศึกษาผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจยังคงต้องการการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจผลกระทบจากการสัมผัสกับไมโครพลาสติกอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น.


ระบบหลอดเลือด 

ก่อนน้านี้มีการศึกษาว่า ไมโครพลาสติกพบในเลือดได้

ในปัจจุบัน มีการศึกษาในสัตว์ทดลองที่ชี้ให้เห็นว่าไมโครพลาสติกอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด โดยพบว่าในการทดลองในห้องปฏิบัติการ ไมโครพลาสติกสามารถกระตุ้นให้เกิด Oxidative stress, การอักเสบ, การตายของเซลล์ และการเสียสมดุลของผนังหลอดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่ความผิดปกติของระบบหัวใจและหลอดเลือดได้

มีการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการที่น่าเชื่อถืออย่าง New England Journal of Medicine ชื่อว่า Microplastics and Nanoplastics in Atheromas and Cardiovascular Events โดย Raffaele Marfella, M.D., Ph.D.Published March 6, 2024

วิธีการศึกษา

งานวิจัยนี้ศึกษาผู้ป่วยที่มีภาวะเส้นเลือดตีบจากการมี plaque อุดตันในหลอดเลือด ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด carotid endarterectomy เพื่อนำ plaque ออกจากเส้นเลือด จากนั้น:

  1. การวิเคราะห์ plaque:

    • Plaque ที่ถูกผ่าตัดออกมาจะถูกนำไปตรวจวิเคราะห์ว่า มีไมโครพลาสติก (microplastics) หรือไม่

    • ผู้ป่วยถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่มตามผลการวิเคราะห์:

      • กลุ่มที่พบไมโครพลาสติกใน plaque

      • กลุ่มที่ไม่พบไมโครพลาสติกใน plaque

  2. การติดตามผล:

    • ผู้ป่วยในทั้งสองกลุ่มได้รับการติดตามต่อไปในอนาคต (prospective study)

    • เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างการพบไมโครพลาสติกใน plaque กับความเสี่ยงของการเกิด โรคหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction), โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) หรือการ เสียชีวิต

ผลลัพธ์:

ผู้ป่วยที่มีไมโครพลาสติกใน plaqueมีอัตราการเกิดหัวใจขาดเลือด (myocardial infarction), โรคหลอดเลือดสมอง (stroke), หรือเสียชีวิตสูงกว่าผู้ป่วยที่ไม่มีไมโครพลาสติกในแผ่นพลัค ในช่วงติดตามผล 34 เดือน

ข้อจำกัดของการศึกษา:

  1. ไม่สามารถสรุปความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ: การศึกษานี้แสดงความสัมพันธ์ แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่าไมโครพลาสติกใน plaqueทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

  2. ความเสี่ยงจากการปนเปื้อน: ถึงแม้ว่าจะมีการใช้มาตรการป้องกันแล้ว แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธความเสี่ยงจากการปนเปื้อนในห้องปฏิบัติการได้

  3. ขอบเขตจำกัด:

    • ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม หรือการสัมผัสกับอาหารและน้ำที่มีไมโครพลาสติก

    • ไม่ได้ประเมินการสัมผัสกับมลพิษทางอากาศ เช่น PM2.5 ซึ่งอาจมีผลต่อผลลัพธ์

  4. ไม่สามารถสรุปผลได้ในประชากรทั่วไป: ผลการศึกษานี้จำกัดเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด carotid endarterectomyดังนั้นอาจไม่สามารถนำไปใช้กับประชากรทั่วไปได้

  5. ความเฉพาะเจาะจงของไมโครพลาสติก: ยังไม่ชัดเจนว่าทำไมเพียงแค่ โพลีเอทิลีน และ โพลีไวนิลคลอไรด์ ถึงถูกตรวจพบในแผ่นพลัค

  6. ความสัมพันธ์ในสัตว์ทดลอง: ข้อมูลจากการศึกษาของสัตว์ทดลองอาจไม่สามารถแปลผลโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ได้

ถึงแม้ว่าจะมีข้อจำกัดเหล่านี้ แต่การศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่อาจเกิดขึ้นระหว่างไมโครพลาสติกในแผ่นพลัคของหลอดเลือดคอและผลลัพธ์ทางสุขภาพหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งต้องการการศึกษาเพิ่มเติมในอนาคต


ระบบสืบพันธ์

Semen

มีการศึกษาที่พบว่าไมโครพลาสติกสามารถตรวจพบได้ในตัวอย่างน้ำอสุจิของมนุษย์ โดยไมโครพลาสติกชนิดที่พบมากที่สุดคือโพลีสไตรีน (Polystyrene: PS) ซึ่งเป็นหนึ่งในแปดชนิดของไมโครพลาสติกที่ระบุได้ในการศึกษา งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการสัมผัสไมโครพลาสติกกับการลดลงของความสามารถในการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิ โดยเฉพาะการสัมผัสกับไมโครพลาสติกชนิดต่าง ๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพของตัวอสุจิและศักยภาพในการสืบพันธุ์ในเพศชาย การค้นพบดังกล่าวสะท้อนถึงความสำคัญของการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของไมโครพลาสติกต่อระบบสืบพันธุ์และสุขภาพในระยะยาว เนื่องจากไมโครพลาสติกสามารถพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ในหลายมิติ

การศึกษานี้พบว่าไมโครพลาสติกสามารถสะสมในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของแม่และทารก ซึ่งรวมถึงรก ขี้เทา อุจจาระของทารก น้ำนมแม่ และนมผง โดยพบไมโครพลาสติก 16 ชนิด โดยชนิดที่พบมากที่สุดคือพอลิอะไมด์ (Polyamide) และโพลียูรีเทน (Polyurethane) โดยส่วนใหญ่มีขนาดเล็กประมาณ 20–50 ไมโครเมตร แหล่งที่มาอาจมาจากการใช้น้ำดื่ม สครับ หรือยาสีฟันในหญิงตั้งครรภ์ และการใช้ขวดนม ของเล่นพลาสติกในทารก

งานวิจัยนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลกระทบของผลิตภัณฑ์พลาสติกต่อการสัมผัสไมโครพลาสติกในช่วงตั้งครรภ์และให้นมบุตร เพื่อทำความเข้าใจความเสี่ยงต่อสุขภาพของทั้งแม่และทารก


ระบบประสาทและสมอง

จากการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ไมโครพลาสติกสามารถสะสมในสมองและส่งผลเสียต่อเซลล์สมองได้

อย่างไรก็ตาม การศึกษาในปัจจุบันยืนยันว่าไมโครพลาสติกสามารถผ่านเข้าสมองได้ แต่ผลกระทบต่อสมองยังไม่ชัดเจน โดยตามทฤษฎีพบว่าไมโครพลาสติกอาจทำให้เกิด oxidative stress, การยับยั้งเอนไซม์, และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม แต่ยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนที่เชื่อมโยงผลกระทบเหล่านี้กับภาวะทางสมองในมนุษย์ เช่น โรคเกี่ยวกับพัฒนาการทางระบบประสาทหรือโรคเสื่อมของระบบประสาทโดยตรง


สรุป 

ไมโครพลาสติกพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อม และมีความกังวลเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพ เนื่องจากข้อมูลปัจจุบันแสดงให้เห็นว่าไมโครพลาสติกสามารถสะสมในเนื้อเยื่อของมนุษย์ได้ โดยเฉพาะในระบบทางเดินหายใจ ระบบย่อยอาหาร สมอง และแม้กระทั่งในอวัยวะสืบพันธุ์ เช่น น้ำคร่ำและน้ำอสุจิ การค้นพบเหล่านี้ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของอวัยวะสำคัญ เช่น การพัฒนาของทารกในครรภ์ ระบบสืบพันธุ์ และระบบภูมิคุ้มกัน  

การศึกษาในปัจจุบันพบว่าไมโครพลาสติกมีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการอักเสบ ภาวะออกซิเจนขาดแคลน และการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายแก่เซลล์ในร่างกาย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเหล่านี้ยังคงอยู่ในขั้นการศึกษาผลกระทบในสัตว์ทดลอง และยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมในมนุษย์เพื่อทำความเข้าใจกลไกการเกิดพิษจากไมโครพลาสติกต่อสุขภาพของมนุษย์.


การลดการ Expose ต่อไมโครพลาสติก

การหลีกเลี่ยงไมโครพลาสติกและการลดการสัมผัสสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางประการดังนี้:

  1. เปลี่ยนการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์: เลือกใช้แก้ว เซรามิก หรือสเตนเลสสตีลแทนพลาสติกในการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น แก้วน้ำ ขวดน้ำ และเครื่องครัว

  2. หลีกเลี่ยงการนำพลาสติกเข้าความร้อน: แม้ว่าผลิตภัณฑ์พลาสติกบางชนิดอาจระบุว่า "ใช้ในไมโครเวฟได้" แต่การนำพลาสติกเข้าความร้อนอาจทำให้ไมโครพลาสติกหลุดออกมาได้

  3. เลือกเสื้อผ้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ: หลีกเลี่ยงการเลือกเสื้อผ้าที่ผลิตจากพลาสติกสังเคราะห์ที่อาจปล่อยไมโครพลาสติกออกมาในระหว่างการซัก

  4. ใช้เครื่องกรองน้ำ: เพื่อลดการสัมผัสกับไมโครพลาสติกที่อาจปนเปื้อนในน้ำ

  5. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากไมโครพลาสติก: มองหาผลิตภัณฑ์ที่ระบุว่า "ไม่ใช้ไมโครพลาสติก" เช่น ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและเครื่องสำอาง

  6. ทำความสะอาดไรฝุ่นที่บ้าน: ฝุ่นในบ้านสามารถมีไมโครพลาสติกเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นการทำความสะอาดเป็นประจำจึงช่วยลดการสัมผัส

หลีกเลี่ยงของเล่นที่ทำจากพลาสติก: เลือกของเล่นที่ทำจากวัสดุธรรมชาติหรือวัสดุที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก


บทสรุป

แม้ว่าไมโครพลาสติกจะพบได้ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายของเรา แต่ในปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยหรือการศึกษาที่ยืนยันชัดเจนว่าไมโครพลาสติกส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือก่อให้เกิดโรคเฉพาะเจาะจง อย่างไรก็ตาม หากกังวลเรื่องไมโครพลาสติก สามารถปรับพฤติกรรมเพื่อลดการรับไมโครพลาสติกได้ตามคำแนะนำข้างต้น


Reference










Disclaimer

ดู 8 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page