top of page
พญ.พรรักษ์ ศรีพล

"Eyesight Matters: คู่มือการตรวจสุขภาพตา"

อัปเดตเมื่อ 29 พ.ย.



ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพตา


การตรวจสุขภาพตาเป็นประจำเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยรักษาสุขภาพตาให้ดีและทำให้ตรวจพบปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระยะแรกได้ อีกทั้งจะทำให้รักษาได้อย่างถูกต้องและทันท่วงที นี่คือ 5 เหตุผลที่สำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการตรวจตาสุขภาพตาเป็นประจำ:


1.ตรวจพบโรคตาในระยะแรก ก่อนที่จะเป็นรุนแรงและสายเกินแก้ : ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Early detection คือ Keyword เหตุผลคือ โรคตาหลายโรคต้องตรวจถึงจะรู้ เช่นโรคต้อหิน ต่อมไขมันอุดตัน ต้อกระจก จอประสาทตาเสื่อม เพราะโรคเหล่านี้บางทีเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อยไป และบางครั้งไม่มีอาการที่ชัดเจนในระยะแรก ทำให้ผู้ป่วยไม่ได้ไปพบแพทย์ การตรวจตาเป็นประจำจะช่วยให้แพทย์ตรวจพบโรคเหล่านี้ในระยะเริ่มต้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การรักษาหรือการแก้ไขได้ทันที ช่วยลดการสูญเสียสายตาหรือรักษาสุขภาพตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ


2. รู้ปัญหาสายตา: การตรวจสุขภาพตาจะช่วยให้รู้ว่า สภาพตามีกำลังค่าสายตาเท่าไหร่ ( สั้น ยาว เอียง) ซึ่งจะนำไปสู่การกำหนดว่าจำเป็นต้องใส่แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ตาหรือไม่ หากคุณมีอาการมองเห็นเว้าหรือภาพไม่คมชัด รวมถึงความลำบากในการมองเห็นวัตถุได้อย่างชัดเจน การตรวจวัดตรวจตาก็จะช่วยระบุปัญหาสายตา และทำให้มีการจัดการแก้ไขที่เหมาะสมเพื่อให้มองเห็นชัดเจนขึ้น การปรับสายตาไม่เพียงแต่เพิ่มความชัดเจนของภาพ แต่ยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตทั่วไปและประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงาน นอกจากนี้ เมื่ออายุ 40 ปี จะมีปัญหาที่เรียกว่า สายตามองใกล้ไม่ชัด ซึ่งเกิดจากการที่กล้ามเนื้อตาและเลนส์ตาที่ช่วยโฟกัสในการมองใกล้ไม่หยืดยุ่นเหมือนตอนที่อายุน้อย ทำให้ต้องยืดแขนออกไปเวลาที่จะมองใกล้ โดยเฉพาะมองตัวหนังสือที่เล็กๆหรือที่ที่มีแสงสว่างไม่พอ ซึ่งถ้าไม่ได้รับการแก้ไข อาจจะทำให้เกิดปัญหาปวดตา ปวดหัวเรื้อรังได้


3. การติดตามสุขภาพตาและระดับการมองเห็น : การตรวจตาเป็นประจำช่วยให้แพทย์ติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพตาของคุณได้ตลอดเวลา พวกเขาสามารถตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในการมองเห็นของคุณ ตรวจสอบสุขภาพเส้นประสาทตา กล้ามเนื้อตา และโครงสร้างตาภายในอื่น ๆ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษาหรือยาที่คุณใช้อยู่ในปัจจุบัน


4. การป้องกันโรคตาบางโรคที่ไม่ให้บอด : เช่น เบาหวานขึ้นจอประสาทตา และโรคจอประสาทตาเสื่อม การตรวจตาเป็นประจำช่วยระบุปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ตั้งแต่ต้นและให้การป้องกันหรือการจัดการโรคตาดังกล่าวได้อย่างทันเวลา สำหรับผู้ที่มีโรคเรื้อรังเช่นเบาหวานหรือความดันโลหิตสูง การตรวจตาเป็นสิ่งสำคัญเพราะจะช่วยตรวจพบและติดตามการแก้ไขและการควบคุมโรคตาที่เกี่ยวข้องได้


5. บอกถึงสภาพร่างกายโดยรวมได้จากการตรวจตา: ตาเป็นหนึ่งในอวัยวะที่ช่วยให้รับรู้สภาพร่างกายโดยรวมของคุณได้ ในระหว่างการตรวจตาแพทย์อาจจะระบุสัญญาณหรืออาการของภาวะสุขภาพทั่วไป เช่น ภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง หรือช่วยวินิจฉัยโรค autoimmune disorders บางโรคได้เป็นต้น

อย่าลืมว่าการตรวจตาเป็นการป้องกันและดูแลสุขภาพตาของคุณในระยะยาว แม้ว่าคุณอาจจะไม่มีอาการใดๆ ที่น่าเป็นห่วงใจในตอนนี้ การตรวจตาเป็นประจำช่วยให้คุณรับรู้สภาพสุขภาพตาและรักษาสุขภาพตาให้ดีที่สุดได้

ใครควรตรวจสุขภาพตาและตรวจเมื่อไหร่


1.เด็กทารกจนถึงก่อนวัยเรียน: ตั้งแต่แรกเกิดจะมีการตรวจเบื้องต้นจากคุณหมอเด็ก อาจจะเพิ่มการตรวจครั้งแรกที่ 6 เดือน หลังจากนั้น ตรวจตาเพิ่มเติมที่อายุ 3 ปีและก่อนเข้าโรงเรียน ประโยชน์การตรวจตาอย่างสม่ำเสมอในเด็กจะช่วยให้มั่นใจในการพัฒนาการมองเห็นที่เหมาะสม และค้นหาปัญหาทางการมองเห็นหรือโรคตาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่เด็ก


2.ผู้ใหญ่: โดยทั่วไปควรตรวจตาอย่างสม่ำเสมออย่างน้อย 1 ครั้ง ทุก 2 ปี แต่ความถี่อาจแตกต่างขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น อายุ สุขภาพทั่วไป เช่น ผู้ใหญ่อายุ 18 ถึง 60 ปีที่ไม่มีปัญหาเฉพาะหรือปัญหาการมองเห็นสามารถทำตามกำหนดการตรวจตาทุก 2 ปีได้ค่ะ


3.ผู้สูงอายุ: ผู้ที่มีอายุ 61 ปีขึ้นไปควรตรวจตาทุกปีหรือตามที่แนะนำของคุณหมอตา และปัจจัยเสี่ยงของแต่ละคน


4.บุคคลที่มีปัจจัยเสี่ยง: ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงบางอย่าง อาจต้องตรวจตาบ่อยขึ้น เช่น ผู้มีเบาหวาน มีประวัติครอบครัวเป็นโรคตา มีประวัติการบาดเจ็บตาหรือผ่าตัด โรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ที่กำลังรับประทานยาที่อาจมีผลต่อการมองเห็น

ทั้งนี้ต้องปรึกษากับหมอตาประจำตัวเพื่อกำหนดความถี่ที่เหมาะสมของแต่ละคนค่ะ และเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจก็แตกต่างกันไป

การตรวจสุขภาพตาต้องตรวจอะไรบ้าง


1. การซักประวัติ : จักษุแพทย์จะทำการซักประวัติเบื้องต้น เกี่ยวกับโรคประจำตัว ยาที่ใช้ เพื่อประกอบในการตรวจสุขภาพตา

2. Visual Acuity Test: การตรวจวัดระดับการมองเห็น ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละช่วงอายุ ปกติแล้วถ้าสามารถพูดและอ่านได้จะใช้การวัดระดับสายตาโดยเรียกว่า Verbal techniques คือให้บอกในสิ่งที่มองเห็น โดยทั่วไปจะให้อ่านชาร์ท ซึ่งชาร์ทวัดระดับการมองเห็นมีหลายชนิดซึ่งจะแบ่งตามอายุของผู้ถูกตรวจ เช่น Allen or Lea Symbols chart, The Snellen chart เป็นต้น


3. Refraction Test: เป็นการวัดกำลังค่าสายตา โดยจักษุแพทย์จะมีเครื่องมือที่เรียกว่า Autorefraction การวัดค่ากำลังสายตาด้วยคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะสามารถบอกได้เบื้องต้นว่ามีค่าสายตาเท่าไหร่ หลังจากนั้นจะใช้ phoropter หรือ series of lenses เพื่อวัดโดยละเอียดว่าจะต้องให้กำลังขยายเท่าไหร่ เพื่อนำไปใช้ในการสั่งประกอบแว่นตาหรือค่าคอนแทคเลนส์ต่อไป


4.การตรวจการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อตา : จะช่วยตรวจหาตาเอียงหรือตาเข โดยเฉพาะในเด็ก

Slit-lamp Examination: เป็นการใช้กล้องกำลังขยายสูงเพื่อตรวจดูโครงสร้างของลูกตาทั้งภายนอกและภายในลูกตา (ส่วนหน้าและส่วนหลัง)


5. Intraocular Pressure Measurement: ความดันลูกตา เพื่อค้นหาภาวะต้อหิน

ตรวจขยายม่านตา : โดยการใช้ยาหยอดตา เพื่อช่วยให้ตรวจลูกตาส่วนหลังได้ดีขึ้น เช่น จอประสาทตา ขั้วประสาทตา และเส้นเลือดที่จอประสาทตามีส่วนสำคัญในคนที่สงสัยโรคจอประสาทตา เช่น ต้อหิน จอประสาทตาเสื่อม และเบาหวานขึ้นตา ในปัจจุบันมีเทคโนโลยี Fundus camera ( ถ่ายภาพจอประสาทตา โดยไม่ต้องขยายม่านตา ) จะสามารถมองเห็นเส้นเลือด จอประสาทตาได้อย่างแม่นยำมากขึ้นแม้ว่าจะมีผิดปกติเพียงเล็กน้อย


6. การตรวจด้วยเครื่องมือพิเศษ: ได้แก่ การตรวจลานสายตา Computerize visual field testing (CTVF) , color vision testing การตรวจตาบอดสี , การตรวจความหนาของขั้วประสาทตาและจอประสาทตา optical coherence tomography (OCT) เป็นต้น ซึ่งการตรวจเพิ่มเติมเหล่านี้ก็ขึ้นอยู่กับความจำเป็นและความเสี่ยงของแต่ละคน

การเตรียมตัวก่อนไปตรวจสุขภาพตา


1. ประวัติสุขภาพ: เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพที่คุณเคยมีมาก่อน ทั้งสุขภาพตาและโรคประจพตัว รวมถึงประวัติการรักษาโรคตาหรือการผ่าตัด (หากมี) รายการยาที่คุณกำลังใช้อยู่ และประวัติการใช้ยา ซึ่งจะช่วยให้จักษุแพทย์ได้รับข้อมูลที่จำเป็น เพื่อให้การตรวจเป็นไปได้ดีที่สุด


2. แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์: หากคุณใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ปรับสายตา ควรนำมาด้วยตอนไปตรวจสุขภาพตา เพื่อให้แพทย์สามารถตรวจวัดสายตาและประเมินความเหมาะสมของแว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ที่ใช้อยู่ และหากใส่คอนแทคเลนส์อยู่นำอุปกรณ์ที่พร้อมจะถอดคอนแทคเลนส์ออกไปด้วยเสมอ


3. อาจจะต้องมีคนขับรถไปให้ด้วย: ในกรณีที่ต้องขยายม่านตาตรวจจะส่งผลต่อการขับรถ การกะระยะ 4-6 ชม. การมองเห็นถึงจะกลับมาเป็นปกติ


4.พักผ่อนให้เพียงพอก่อนวันตรวจ: ควรพักผ่อนให้เพียงพอก่อนไปตรวจ เพราะบางครั้งอาจจะต้องตรวจเครื่องมือพิเศษที่จำเป็นต้องใช้สมาธิในการตรวจ เช่น การตรวจลานสายตา Computerize visual field testing (CTVF) เป็นต้น


5. นำเอกสารที่เกี่ยวข้องไปด้วย: หากคุณมีผลตรวจสุขภาพตาก่อนหน้านี้หรือรายงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพตา ควรนำมาด้วยเพื่อให้แพทย์ได้ทราบและใช้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมในการประเมินสภาพตาของคุณ


6. ทำการนัดล่วงหน้าและมาก่อนนัดซักเล็กน้อย


7. เตรียมคำถามที่ต้องการถามจักษุแพทย์ไปด้วย


อย่างไรก็ตามอาจจะต้อง ติดต่อโรงพยาบาลหรือคลินิกที่คุณจะไปตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อขอคำแนะนำที่เป็นเฉพาะต่อคุณว่าต้องเตรียมตัวอย่างไร

 

Disclaimer:

ข้อมูลที่ให้มาในเนื้อหานี้เป็นเพียงวัตถุประสงค์ทั่วไปเท่านั้น และไม่ควรถือเป็นคำแนะนำทางการแพทย์ มันไม่สร้างความสัมพันธ์แพทย์/ผู้ป่วยและไม่ควรนำมาใช้ในการตัดสินใจทางการแพทย์ ผู้ใช้จะต้องขอคำปรึกษาทางการแพทย์จากแพทย์มืออาชีพสำหรับสภาวะทางการแพทย์เฉพาะและไม่ควรละเว้นหรือล่าช้าในการได้รับคำแนะนำดังกล่าว ผู้เขียนและผู้จัดพิมพ์เนื้อหานี้ไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดหรือผลที่เกิดจากการใช้ข้อมูลที่ให้ไว้ ใช้เนื้อหานี้ด้วยความเสี่ยงและดุษณีตามดุลยพินิจของผู้ใช้เอง

พญ.พรรักษ์ ศรีพล (หมอเจ็น) Social & Website


 

ดู 157 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments

Rated 0 out of 5 stars.
No ratings yet

Add a rating
bottom of page